รายงานการศึกษาปริมาณคาร์บอนในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

รายงานการศึกษาปริมาณคาร์บอนในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
  • ชื่อเอกสาร: Carbon stock in Kaeng Krachan National Park
  • เอกสาร: พร้อมดาวน์โหลด
  • รายงานการกักเก็บคาร์บอนในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

บทคัดย่อ

         การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินปริมาณมวลชีวภาพและการสะสมคาร์บอนในรูปแบบต่าง ๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในท้องที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยดำเนินการสำรวจด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบ point sampling ในลักษณะกลุ่มแปลงตัวอย่าง (cluster) แต่ละกลุ่มตัวอย่างห่างกันอย่างเป็นระบบ (systematic) มีระยะห่างเท่ากับ 2.5 กิโลเมตร ครอบคลุมทั่วพื้นที่ทำการศึกษา รวมทั้งหมด 476 กลุ่มแปลงตัวอย่าง และทำการเก็บตัวอย่างดินในแต่ละสังคมพืชเพื่อนำไปวิเคราะห์หาค่าปริมาณคาร์บอนที่สะสมในดิน

          ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณมวลชีวภาพมีค่ามากที่สุดในสังคมพืชป่าดิบเขา รองลงมาคือ ป่าดิบชื้น ป่าดิบชื้นผสมไผ่ ป่าดิบแล้งระดับสูง ป่าดิบแล้งระดับกลาง ป่าดิบแล้งระดับต่ำ ป่าดิบแล้งผสมเบญจพรรณ ป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ ป่ารุ่นสอง พื้นที่เกษตรกรรม ไร่ร้างและไร่หมุนเวียน โดยมีค่าเท่ากับ 219.36, 212.03, 166.89, 160.75, 134.08, 133.01, 86.90, 84.74, 83.50, 70.24, 32.08 และ 7.67 ตันต่อเฮกตาร์ ตามลำดับ

สังคมพืชที่มีค่าการสะสมคาร์บอนมากที่สุดคือ ป่าดิบเขา รองลงมาคือ ป่าดิบชื้น ป่าดิบชื้นผสมไผ่ ป่าดิบแล้งระดับสูง ป่าดิบแล้งระดับกลาง ป่าดิบแล้งระดับต่ำ ป่าดิบแล้งผสมเบญจพรรณ ป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ ป่ารุ่นสอง พื้นที่เกษตรกรรม และไร่ร้างและไร่หมุนเวียน โดยมีค่าเท่ากับ 103.10, 101.92, 80.22, 77.27, 64.45, 63.94, 41.78, 40.92, 40.73, 33.01, 15.08 และ 3.69 ตันต่อเฮกตาร์ ตามลำดับ

การสะสมคาร์บอนในดินพบว่า ป่าดิบเขา มีค่าการสะสมคาร์บอนในดินมากที่สุด รองลงมาคือ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งระดับต่ำ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้งระดับกลาง ป่าดิบแล้งผสมเบญจพรรณ ป่ารุ่นสอง ไร่ร้างและไร่หมุนเวียน ป่าดิบชื้นผสมไผ่ ป่าไผ่ ป่าดิบแล้งระดับสูง และพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีค่าเท่ากับ 107.77, 86.86, 74.59, 60.89, 58.48, 55.98, 48.76, 48.76, 47.83, 47.83, 44.41 และ 43.97 ตันต่อเฮกตาร์ ตามลำดับ

สำหรับการสะสมคาร์บอนในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีค่ารวมทั้งพื้นที่เท่ากับ 40,647,724.04 ตัน โดยแบ่งเป็นการสะสมคาร์บอนเหนือพื้นดิน ใต้พื้นดิน ในไม้ยืนต้นตาย และในดิน ซึ่งมีค่าเท่ากับ 18,608,613.43, 2,886,582.51, 447,369.22 และ 18,705,158.88 ตัน ตามลำดับ เมื่อคิดเป็นปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีค่าเท่ากับ 149,041,654.81 ตัน หากคิดเป็นมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ประมาณ 0.24 ยูโรต่อตัน ซึ่งเป็นราคาการซื้อขาย ณ วันที่ 12 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 (ตลาดคาร์บอน, 2562) เมื่อใช้อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 35 บาทต่อ 1 ยูโร จะคิดเป็นอัตราซื้อขาย 8.4 บาทต่อตัน โดยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตรวมเท่ากับ 1,251,949,900 บาท

คำสำคัญ : มวลชีวภาพ การสะสมคาร์บอน มรดกอาเซียน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน