Wildlife in Kaeng Krachan National park
- Product Code: Wildlife in Kaeng Krachan National park
- Availability: In Stock
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบความหลากชนิด สถานภาพ และการกระจายของสัตว์ป่าหายากใกล้แนวพรมแดนประเทศในพื้นที่มรดกอาเซียน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยการสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน และนก ด้วยกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (camera trap) การเดินสำรวจแบบพบเห็นตัวโดยตรง ได้ยินจากเสียงร้อง และร่องรอยต่าง ๆ ที่ปรากฏ แล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม MaxEnt (Maximum Entropy Species Distribution Modeling, Version 3.4.1)
ผลการศึกษาพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 10 อันดับ 23 วงศ์ 55 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 2 อันดับ 7 วงศ์ 35 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 3 อันดับ 16 วงศ์ 55 ชนิด สำหรับกลุ่มนกเป็นเพียงการบันทึกข้อมูลอย่างคร่าวระหว่างการสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ใช่การสำรวจอย่างละเอียดเฉพาะด้าน ได้บันทึกไว้ 22 อันดับ 68 วงศ์ 258 ชนิด จากการตรวจสอบสถานภาพทางกฎหมายพบชนิดพันธุ์ที่เป็นสัตว์ป่าสงวน 4 ชนิด ได้แก่ เลียงผา (Capricornis sumatraensis) เก้งหม้อ (Muntiacus feae) แมวลายหินอ่อน (Pardofelis marmorata) และสมเสร็จ (Tapirus indicus) สัตว์ป่าคุ้มครอง 320 ชนิด สัตว์ป่าที่มีสถานภาพตามอนุสัญญาไซเตส (CITES) 50 ชนิด สัตว์ป่าที่มีสถานภาพบัญชีแดงของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ พบชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (Critically endangered: CR) 4 ชนิด ได้แก่ จระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) เต่าเหลือง (Indotestudo elongate) เต่าหก (Manouria emys) และลิ่นชวา (Manis javanica) ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์จากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและถูกคุกคามจนอาจสูญพันธุ์ได้ในอนาคต ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN) 6 ชนิด ได้แก่ วัวแดง (Bos javanicus) หมาใน (Cuon alpinus) เสือโคร่ง (Panthera tigris) สมเสร็จ (Tapirus indicus) ช้างป่า (Elephas maximus) และชะนีธรรมดา (Hylobates lar) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีความชุกชุมมากที่สุด คือ หมูป่า (Sus scrofa) พบกระจายทั่วทั้งพื้นที่ สำหรับเสือโคร่ง (Panthera tigris) ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ขนาดใหญ่ที่เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศยังคงพบที่บริเวณแนวชายแดนและบริเวณตอนกลางของพื้นที่
จากการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่ามีสัตว์ป่าหายากหลายชนิดที่มีการกระจายหากินข้ามพรมแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมา จึงควรมีการจัดการและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อให้สัตว์ป่าที่อยู่ในสภาวะวิกฤตและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มีถิ่นอาศัยที่เหมาะสมและคงความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่